Menu Close

ชอบกินของมันๆจริงๆแล้วมันดีหรือไม่ดีกันนะ?

 มีบทความดีๆมาให้อ่านครับ^^

เปิดแฟ้มลับคดีดัง ไขมันสูง VS. ไขมันต่ำ เมนูไหนที่ร่างกายต้องการ

โพสต์ 08-05-2561
ไขมัน = อ้วน
ไขมัน = โรค
สำหรับคนที่ดูแลสุขภาพ หรือฟิตหุ่นอยู่ หากได้ยินคำว่า “ไขมัน” คงจะเบือนหน้าหนีกันแทบไม่ทัน เพราะเมื่อพูดถึงเทรนด์การดูแลสุขภาพ ก็ต้องตามมาด้วยการเลือกทานอาหารไขมันต่ำ ตัดมันทิ้งให้ได้มากที่สุด บางคนถึงขั้นตัดขาดไขมันแบบไม่ใยดีกันเลย จนไขมันกลายเป็นสิ่งต้องห้ามของโปรแกรมดูแลสุขภาพไปเสียแล้ว
แต่ช้าก่อน หลายคนคงยังจำได้ว่าเจ้าไขมันนี้ยังคงครองตำแหน่ง 1 ในสารอาหาร 5 หมู่ที่จำเป็นต่อร่างกายอยู่ แล้วการปรับเปลี่ยนการบริโภคแบบลด ละ เลิกทานไขมันนั้น ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกายของเราจริง ๆ หรือ วันนี้ Healthy Living จะมาเปิดความจริงเกี่ยวกับเจ้าไขมันผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้ายรายสำคัญที่ทำร้ายร่างกาย มาลุ้นกันว่าคดีจะพลิกหรือไม่ ไปดูกันเลย
คดีที่ 1 “กินไขมันทำให้อ้วน”
เมื่อเริ่มควบคุมน้ำหนัก วิธีการเลือกทานที่ปิ๊งขึ้นมาในหัวหลายคนอย่างแรกเลยก็คือ การทานอาหารไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงไขมันให้ได้มากที่สุด และเข้าสู่โหมด หุง อุ่น ตุ๋น ต้ม นึ่ง ทันที ลาขาดจากการทอดและผัดไปอย่างสิ้นเชิง หรือทานให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้
แต่รู้ไหมว่าไขมันที่สะสมตามส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกายนั้นเกิดจากการที่ร่างกายหลั่งอินซูลินในปริมาณมาก ซึ่งจริง ๆ แล้วอาหารที่มีปริมาณอินซูลินสูง คืออาหารพวกคาร์โบไฮเดรตอย่างแป้ง เส้น และขนมปังต่าง ๆ รองลงมาจะเป็นโปรตีน ในขณะที่ไขมันไม่ให้อินซูลินใด ๆ เลย
ไขมันนอกจากจะไม่ทำให้อ้วนแล้วยังมีผลดีกับการควบคุมน้ำหนักด้วย
นอกจะไม่มีอินซูลินแล้วเจ้าไขมันยังทำให้ระบบเผาผลาญอาหารและกลไกในการเผาผลาญไขมันทำงานได้ดีขึ้นด้วย มีผลจากการทดลองระหว่างคนที่ทานไขมันสูง แป้งน้อย กับ คนที่ทานไขมันต่ำ แป้งสูง และได้รับแคลอรี่เท่ากัน ผลออกมาว่า คนที่ทานไขมันสูง แป้งต่ำนั้น มีระบบเผาผลาญเร็ว และมากว่าอีกกลุ่มถึง 300 แคลอรี่ ในขณะที่กลุ่มที่ทานแป้งสูง ไขมันต่ำนั้นมีแนวโน้มที่จะเริ่มมีไขมันสะสมที่พุงอีกด้วย
เคยรู้สึกไหมว่าพอเริ่มเข้าโหมดควบคุมน้ำหนักทีไร ทำไมถึงหิวตลอดเวลา อาการหิวตลอดเวลานี้เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณทานไขมันในปริมาณที่น้อยเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ เพราะไขมันจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้คุณรู้สึกอิ่มท้องได้นาน รวมถึงสามารถช่วยลดการกินอาหารระหว่างมื้อได้ เคล็ดลับง่าย ๆ ลองเพิ่มอาหารจำพวก “ไขมันดี” อย่างถั่วต่าง ๆ  อะโวคาโด ไข่ โยเกิร์ตสูตรปกติ เนื้อปลา เข้าไปในแต่ละมื้อดู แต่อย่าลืมว่าควรทานให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะด้วยนะ
การงดกินไขมันจึงไม่ใช่วิธีการลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพที่สุด หากแต่คือการปรับพฤติกรรมการกินจากไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ซึ่งมักพบใน เนยเทียม มาการีน กะทิ เนื้อสัตว์ติดมัน น้ำมันปาล์ม มาเป็นการเพิ่มปริมาณ “ไขมันดี” ในมื้ออาหารเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เพราะนอกจากไขมันพวกนี้จะไม่ใช่ตัวร้ายแล้ว ยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการควบคุมน้ำหนักได้ด้วย
คดีที่ 2 “ไขมันบ่อเกิดโรค”
เราทุกคนถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่าการทานอาหารที่มีไขมัน นอกจากจะทำให้อ้วนแล้วยังทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลงด้วย เพราะไขมันเหล่านี้จะเข้าไปอุดตันตามหลอดเลือดของเรา และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ทำให้กลุ่มคนรักสุขภาพหลายคนหลีกเลี่ยงการทานไขมันโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นไขมันดีหรือไขมันเลว จนบางคนตกอยู่ในภาวะพร่องไขมันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งภาวะนี้จะนำโรคร้ายต่าง ๆ กลับมาหาเราแทนได้
ภาวะพร่องไขมัน
ก่อนที่จะไปพบกับประโยชน์ของไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เรามาวิเคราะห์ตัวเองกันก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังตกอยู่ในสภาวะ ที่ร่างกายขาดไขมันอยู่หรือไม่ ด้วยการสังเกตง่าย ๆ 4 วิธี ดังนี้
– รู้สึกหิวตลอดเวลา
เพราะไขมันนั้นเป็นสารอาหารที่ทำให้เรารู้สึกอิ่มท้องได้นาน ช่วยลดอาการอยากอาหาร เมื่อเราทานไขมันในปริมาณที่น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ เราจึงรู้สึกว่าอยากทานอาหารอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
– รู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
ถ้ารู้สึกอึน ๆ มึน ๆ งง ๆ หรืออ่อนเพลียไม่อยากจะทำอะไรเวลาหิว นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ร่างกายกำลังจะเตือนว่าต้องการไขมัน
– ผิวแห้ง
หากอยู่ดี ๆ ผิวของเราไม่ชุ่มชื้นเหมือนเดิม และแห้งขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ นั่นเป็นอีกจุดสังเกตหนึ่งของภาวะขาดไขมัน
– หนาวอยู่ตลอดเวลา
หากช่วงนี้รู้สึกหนาวง่าย ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้ป่วยอะไร อยู่ออฟฟิศต้องใส่เสื้อกันหนาวตลอดเวลา ในขณะที่คนอื่น ๆ ไม่รู้สึกอะไรเลย สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเราอาจจะไม่ได้รับไขมันอย่างเพียงพอ
กินไขมันแล้วไม่เป็นอันตรายกับร่างกายจริงหรือ ?
กับคดี “ไขมันบ่อเกิดโรค” นี้หากจะบอกว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริงเลยก็คงไม่ใช่ เพราะ ไขมันนั้นมีทั้งชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และชนิดร้ายที่หากทานเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการก็จะส่งผลให้เกิดโรคได้เช่นกัน หากเราเลือกทานให้ถูก เจ้าไขมันก็จะไม่ใช่วายร้ายกับร่างกายของเราอีกต่อไป ซึ่งโดยปกติแล้วไขมันในเส้นเลือดจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ นั่นคือ
– ไขมันชนิดร้าย (LDL) ไขมันชนิดนี้ชอบทิ้งขยะหรือนำไขมันไปทิ้งเป็นคราบไว้ตามผนังเส้นเลือด
– ไขมันชนิดดี (HDL) เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นพนักงานเก็บกวาดขยะ เก็บคราบไขมันที่เกาะอยู่ตามผนังเส้นเลือด ไปที่ตับและขับออกทางน้ำดี
เพราะฉะนั้นแล้วไขมันชนิดร้าย (LDL) อย่างไขมันที่อยู่ใน เนยเทียม มาร์การีน กะทิ เนื้อสัตว์ติดมัน เบเกอรี่ จึงเป็นไขมันที่ควรบริโภคในปริมาณน้อย และทดแทนด้วยไขมันชนิดดี (HDL) ที่จะพบได้ใน ไข่ ธัญพืชต่าง ๆ และกรดไขมันโอเมก้า 3 ในเนื้อปลา หรือเลือกปรุงอาหารในน้ำมันที่ดีอย่าง น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันรำข้าว HDL จะช่วยเก็บกวาดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลงและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดตีบตันได้
เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายมีไขมันเป็นส่วนประกอบ
นอกจากไขมันดีจะมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรคแล้ว ยังเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อเซลล์ในร่างกาย ใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างผนังเซลล์ สร้างเซลล์ประสาทต่าง ๆ สร้างเยื่อหุ้มสมอง สร้างฮอร์โมนเพศ และเป็นแหล่งพลังงานในกระแสเลือด อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายมีความอบอุ่น และยังเป็นส่วนสำคัญในการดูดซึมวิตามิน A D E และ K นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมทำให้เมื่อเราขาดไขมันจะส่งผลให้ผิวพรรณดูแห้ง ไม่สดใส ผมร่วง และประจำเดือนมาไม่ปกติได้
“ไขมัน” ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายอย่างที่คิด เพียงแค่เราต้องพิถีพิถันกับประเภทไขมัน ไม่ใช่ปริมาณไขมัน

และทานไขมันให้ถูก ทานให้เป็น หุ่นสวย ๆ และสุขภาพที่ดีจะหนีไปไหนพ้น

ที่มา: healthyliving

 


ริว STARTFA

ที่ปรึกษาการเงิน มีเชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล โดยเฉพาะการวางแผนประกันชีวิตและการวางแผนเกษียณ โดยให้ความรู้ด้วยภาษาง่ายๆเข้าใจไม่ยาก เพื่อให้ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างดีที่สุด^^

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

บริการวางแผนการเงินฟรี

ร่วมงานกับเรา