Menu Close

เว้นระยะจากโลกออนไลน์ สูตรดีท็อกซ์ใจให้สมดุลในโลกจริง

เว้นระยะจากโลกออนไลน์ สูตรดีท็อกซ์ใจให้สมดุลในโลกจริง

  • เว้นระยะจากโลกออนไลน์ สูตรดีท็อกซ์ใจให้สมดุลในโลกจริง 
  • ในยุคที่ทุกอย่างถูกย้ายไปอยู่ในโลกออนไลน์ทั้งผู้คน ข่าวสาร ความบันเทิง หรือแม้กระทั่งชีวิตประจำวันที่ต้องอัพเดตเรื่องของตัวเองตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ต้องคอยอัพเดตชีวิตคนอื่นทั้งวันจนเป็นกิจวัตร จนบางคนมีชั่วโมงชีวิตในโลกออนไลน์มากกว่าโลกจริงจนน่าตกใจ กรมสุขภาพจิตแนะนำให้เราใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และยังมีงานวิจัยบอกอีกว่า ถ้าจะใช้โซเชียลให้เฮลท์ตี้ต่อใจมากที่สุด อยู่ที่วันละ 30 นาที แต่ตอนนี้คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยแล้ว 6-10 ชั่วโมง/วัน เลยล่ะ จริงๆ แล้วมันจะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าเราสร้างสมดุลให้ตัวเองระหว่างสองโลกนี้ได้ แต่เรารู้กันเสมอมาว่าโซเชียลมีเดียเป็นตัวการสำคัญที่พร้อมเล่นงานสุขภาพจิตเราได้เสมอ เพราะบางครั้ง เราก็ต้องฝืนความเป็นตัวเองและแสดงออกเรื่องที่สังคมให้การยอมรับ ถึงจะได้การตอบรับที่ดีแต่อย่าลืมว่าอะไรที่ฝืนไปมันมีผลเสียย้อนมาเช็กบิลทั้งนั้น ถ้าใจของคุณกำลังแบกเรื่องราวบนไทม์ไลน์จนหนักเกินไป มาลองรีสตาร์ทใจด้วย Digital Detox กันดูไหม  ดิจิทัล ดีท็อกซ์ คือ การเว้นระยะห่างจากเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจากหน้าจอสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือการจ้องจอทุกๆ ประเภท ให้ใจได้พัก ให้ตัวเราได้กลับมาใช้ชีวิตในโลกจริงได้มากขึ้น ไม่ต้องรอการแจ้งเตือน ไม่ต้องอัพเดตเรื่องราวตลอดเวลา ไม่สามารถบอกได้ว่ามันง่าย แต่เชื่อเถอะว่าถ้าทำได้จิตใจและร่างกายจะเฮลท์ตี้และแฮปปี้ขึ้นมากๆ สูตรดีท็อกซ์ใจให้สมดุลในโลกจริง
  • เปิดโหมดรีเซ็ต
  • ก่อนที่จะเริ่มทำดิจิทัล ดีท็อกซ์ กระซิบบอกตัวเองให้ใจแข็งเข้าไว้ คนที่อยากห่างจากโซเชียลแต่ไม่สามารถหักดิบลบแอคเคาท์ทิ้งได้ ลองเริ่มด้วยวิธีง่ายและปรับให้เข้ากับตารางชีวิตตัวเองไปทีละนิดดูก่อน อาจลองหยิบยืมจากสิ่งที่เราแนะนำต่อไปนี้ หรือจะพลิกแพลงต่อยอดเป็นวิธีที่เหมาะกับตัวเองก็ได้
detoxdigi_timing
  • ปรับเวลาจ้องจอให้เข้ากับตารางชีวิต

             – ตั้งเวลาเช็กอีเมลทุกชั่วโมง หากเป็นมนุษย์ที่ต้องตอบอีเมลล์งานตลอดทั้งวัน ลองใช้วิธีตั้งเวลาเช็กอีเมลหรือตอบ ‘ทุกชั่วโมง’ แทน เพราะบางงานก็ยังรอได้จะได้ไม่ต้องกังวลหยิบมือถือมาเช็กอีเมลเข้าตลอดเวลาด้วย

              – จำกัดเวลาใช้โซเชียล ใครที่ต้องทำงานกับโซเชียลมีเดียทั้งวัน ไม่สามารถพักการจ้องจอได้ ลองจำกัดเวลาในการใช้โซเชียลให้ตัวเอง เช่น หลังสี่ทุ่มหรือระหว่างกินข้าวจะไม่จับมือถือไม่เล่นโซเชียลเลย หากทำตามช่วงเวลาสั้นๆ ได้แล้วค่อยขยับเพิ่มเวลาให้เข้ากับชีวิตมากขึ้น

detoxdigi_clearnoti

  • เคลียร์หน้าจอ ปิดการแจ้งเตือนลดความกวนใจ

              – ลบแอปฯ ปิดการแจ้งเตือน บางแอปพลิเคชั่นที่เราไม่ได้ใช้งาน นอกจากจะกินพื้นที่ในโทรศัพท์แล้วยังรกหน้าจอด้วย ถ้าไม่ได้ใช้แนะนำให้ลบทิ้งดีที่สุด นอกจากนั้นอยากแนะนำให้ปิดแจ้งเตือนแอปพลิเคชั่นที่ไม่จำเป็น เพราะการมีตัวเลขแจ้งขึ้นมามันเหมือนหลอกล่อให้เรากดเข้าไปแทบทุกครั้ง บางทีอาจเป็นแค่โฆษณาที่เราไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ แล้วผลก็คือเลยไปไถหน้าจอเรื่อยๆ ทั้งที่ไม่จำเป็น การปิดแจ้งเตือนไปเลยตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยลดความกวนใจของเราได้ดี

              – เปลี่ยนหน้าจอเป็นขาวดำ เหตุผลที่คนติดโทรศัพท์มือถือ ไถฟีดไปเรื่อยๆ ก็เพราะภาพหรือวีดีโอในนั้นมีสีสัน มีชีวิตชีวา หากลองเปลี่ยนการแสดงผลหน้าจอเป็นสีขาวดำ จะช่วยลดความน่าสนใจหรือน่าติดตามในโซเชียลมีเดียได้ ซึ่งในมือถือหลายรุ่นก็สามารถเปลี่ยนได้แล้วนะ

detoxdigi_openpurpose

  • รู้เป้าหมายที่เปิดหน้าจอทุกครั้ง

               – มีสติทุกครั้งที่เล่นโซเชียล เพราะความเพลินในการเลื่อนฟีดไปเรื่อย เข้าแอปฯ นู้น ออกมาแอปฯ นี้ทำให้เราไม่มีจุดสิ้นสุดในการใช้งาน ถ้าตั้งใจจะดิจิทัล ดีท็อกซ์จริงๆ ควรตั้งเป้าหมายในการเข้าถึงโซเชียลมีเดียทุกครั้ง เช่น เข้าไปอ่านข่าวโดยเฉพาะ อ่านจบแล้วกดออกเลย หรือเปิดขึ้นมาเพื่อใช้โทรศัพท์ติดต่อหาคนนี้เท่านั้น

detoxdigi_toxicfriend

  • เคลียร์เพื่อนในโซเชียลมีเดีย

               – เคลียร์คอนเทนต์บนไทม์ไลน์ให้สบายตา เคลียร์แอปพลิเคชั่นไปแล้ว อย่าลืมเคลียร์บุคคลที่เรารู้สึกว่าเธอกับฉันไปกันไม่ได้ในไทม์ไลน์ออกไปด้วย แน่นอนว่าถ้าทัศนคติของเราและเพื่อนไม่ตรงกัน ย่อมจะมีคอนเทนต์บนไทม์ไลน์ที่พาเราไม่ชอบใจตามไปด้วย ถ้าไม่อยากอันเฟรนด์ใครเพราะในโลกจริงก็ยังพบเจอกันอยู่ เราสามารถกดซ่อนการแจ้งเตือนของคนคนนั้นได้ หรือถ้าอยากตัดขาดจริงๆ เลือกอันเฟรนด์/อันฟอลโลว์ไปเลยก็ได้

detoxdigi_realworld

  • พักโลกออนไลน์ หากิจกรรมในโลกจริงทำ

               – กลับมาทำงานอดิเรกที่รักอีกครั้ง เราเชื่อว่าคุณมีงานอดิเรกที่ชอบหรือเคยชอบ แล้วตอนนี้ไม่ค่อยได้ทำ ช่วงที่กำลังทำดิจิทัล ดีท็อกซ์ นี้เป็นช่วงเวลาที่ดี ที่จะกลับมาทำงานอดิเรกนั้น นอกจากจะช่วยให้เว้นระยะกับโซเชียลได้แล้ว การทำงานอดิเรกยังช่วยให้เพิ่มความผ่อนคลายให้จิตใจไม่เครียดมากอีกด้วย

               – ให้เวลากับผู้คนรอบข้าง ถึงอย่างไรการพบปะผู้คนตัวเป็นๆ ย่อมดีกว่าพบในออนไลน์เสมอ ช่วงที่พักจากการใช้โซเชียลลองใช้เวลากับครอบครัวให้เยอะขึ้น กินข้าวกับครอบครัวแบบไม่เล่นโทรศัพท์ ดูทีวีที่บ้านกันพร้อมหน้า หรือการออกไปฮอปปิ้งคาเฟ่กับเพื่อนๆ ไปเดินเล่นสวนสาธารณะก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่แนะนำ อาจจะมีคนรอใช้เวลากับคุณอยู่ก็ได้นะ

รีเซ็ตช้าไป ใจจะพังเพราะภาวะนี้ เราคงเคยได้ยินหลายภาวะของร่างกายที่กำลังพัง คล้ายการเสพติดบางอย่างมากเกินไป ส่วนใหญ่จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในจิตใจ พอไปลองทำแบบประเมินภาวะความเสี่ยงติดโซเชียลที่ไหนก็เข้าข่ายทุกข้อ (คลิกทำแบบประเมินภาษาอังกฤษได้ ที่นี่) ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้น นี่อาจเป็นสัญญาณบอกว่าควรเริ่มรีเซ็ตตัวเองทำ ดิจิทัล ดีท็อกซ์ได้แล้วนะ ก่อนภาวะพวกนี้เติบโตในใจจนเสียสมดุล 

  • FOMO (Fear of missing out)
    เป็นภาวะที่รู้สึกกลัวการตกกระแส กลัวจะพลาดสิ่งสำคัญไปเลยต้องไถฟีดทุกๆ นาที เพื่อให้รู้ว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหนกันบ้าง ถ้าไม่ได้รู้จะหงุดหงิดตลอดเวลา ทำให้สติไม่อยู่กับปัจจุบันและรับฟังคนอื่นน้อยลงเพราะให้ความสำคัญไปกับโซเชียลตรงหน้ามากกว่า
  • Sleep-Texting
    เป็นอาการของคนที่คลั่งแชทเป็นชีวิตจิตใจ โดยจะต้องส่งข้อความตอบกลับอย่างรวดเร็วทุกครั้งที่ได้รับข้อความใหม่เข้ามาแม้กระทั่งตอนหลับ เมื่อได้ยินเสียงเตือนข้อความร่างกายและสมองจะตอบสนองด้วยการคว้ามือถือและพิมพ์ตอบทันที ถึงแม้ภาวะนี้ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่หากเป็นแบบนี้บ่อยๆ อาจรบกวนการนอนทำให้หลับไม่เต็มอิ่มด้วย
  • Facebook Depression Syndrome
    อีกหนึ่งภาวะพาใจแย่ที่มีต้นเหตุมาจากเฟสบุ๊ก เพราะสังคมออนไลน์ในฟีดทุกคนจะสร้างความจริงเทียมขึ้นมา (Artificial Reality) จากการโพสต์แต่ด้านดีๆ ของชีวิต ปกปิดเรื่องแย่ๆ เอาไว้ เมื่อเราเห็นคนที่มีชีวิตที่สมบูรณ์แบบไปเสียหมดก็อดไม่ได้ที่จะมาเปรียบเทียบกับตัวเอง จนรู้สึกไร้ค่า และเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิต
  • Nomophobia
    ภาวะความเครียดที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตกกังวลถ้าไม่ได้ใช้มือถือ ทั้งในสถานการณ์ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต แบตฯ หมด หรือลืมหยิบมือถือมาจากบ้าน จนทำให้รู้สึกกระวนกระวาย บางคนหากอาการรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออกมากถึงคลื่นไส้ หากสะสมไปนานๆ จะชวนให้เสียสุขภาพจิตได้

 ลองหาวิธีทำดิจิทัล ดีท็อกซ์ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ถ้าแบบไหนไม่เวิร์กก็ค่อยๆ ปรับไปจนเจอทางที่ใช่ เพราะบางทีเราไม่ต้องตามทุกเรื่องที่ขึ้นบนโลกออนไลน์ก็ได้ ถ้าเรื่องไหนเป็นประเด็นใหญ่จริงๆ เราจะได้ยินมาจากคนใกล้ชิดอย่างแน่นอน ปีใหม่นี้ลองรีเซ็ตให้ใจโล่งๆ ดูสักครั้ง วางมือถือลงบ้าง กลับมาสร้างสมดุลให้ใจในโลกจริงกันดีกว่านะ 

ที่มา: HealthyLiving


ริว STARTFA

ที่ปรึกษาการเงิน มีเชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล โดยเฉพาะการวางแผนประกันชีวิตและการวางแผนเกษียณ โดยให้ความรู้ด้วยภาษาง่ายๆเข้าใจไม่ยาก เพื่อให้ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างดีที่สุด^^

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

บริการวางแผนการเงินฟรี

ร่วมงานกับเรา