Menu Close

ขายของออนไลน์เสียภาษีอย่างไร?

ขายของออนไลน์เสียภาษีอย่างไร? คงเป็นคำถามที่หลายๆคนสงสัย เนื่องจากปกติเคยขายของหน้าร้าน แต่อาจจะไม่ได้เคยมีการเสียภาษีมาก่อนเนื่องจากเป็นร้านค้าเล็กๆ และระบบรายได้นั้น ยังไม่ได้มีการตรวจสอบชัดเจน และอาจจะยังไม่เคยมี จนท. สรรพกรเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจในการเสียภาษี เนื่องจาก ร้านค้าเล็กๆ อาจจะอยู่ได้ไม่นานบ้าง เปิดไม่เป็นเวลาบ้าง ทำให้เจ้าหน้าที่ยังเข้าไม่ถึง

แต่ในช่วงหลายปีมานี้ การขายของออนไลน์ หรือ การเปิดร้านขายอาหารออนไลน์ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และเมื่อมีการทำธุรกรรมผ่านแอพที่ได้รับความนิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชอปปี้ ลาซาด้า ไลน์แมน แกรบฟู้ด ฟู้ดแพนด้า ฯลฯ ซึ่งทำให้รายได้ของร้านต่างๆเริ่มเข้ามาอยู่ในระบบที่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นเราควรมาทำความเข้าใจเรื่องของการวางแผนภาษีสำหรับร้านค้าต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในภายหลังได้ครับ^^

ริวจะปูพื้นความรู้ง่ายๆ เพื่อให้สามารถไปหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อได้ในอนาคตนะครับ ซึ่งหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษี คือ กรมสรรพกร และ กรมสรรพกร จะมีสาขาที่ให้บริการอยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการทุกคนควรจะทราบหรือมีข้อมูลว่าร้านที่เราตั้งอยู่อยู่ใกล้พื้นที่สรรพกรในสาขาอะไร เพื่อให้ง่ายในการเดินทางไปติดต่อ หรือ ชำระภาษี รายเดือน รายครึ่งปี หรือ รายปีได้ครับ

เจ้าหน้าที่สรรพกร จะมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและให้บริการพร้อมทั้งให้คำปรึกษาในเรื่องของภาษีกับประชาชน ดังนั้นถ้ามีข้อสงสัยเรื่องภาษี ก็สามารถขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้นะครับ ทำให้ถูกต้องดีกว่าทำผิดแล้วโดนปรับแน่นอนครับ โดยเจ้าหน้าที่ก็จะให้คำแนะนำอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายภาษี ซึ่งมีชื่อว่า ประมวลรัษฏากร ครับ ดังนั้น การศึกษาเรื่องภาษีเราจำเป็นต้องศึกษาเรื่องกฎหมายภาษีครับ เราจึงต้องมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรากฎหมายทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับเราเพื่อทำความเข้าใจนะครับ

สำหรับใครที่ทำธุรกิจ ขายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการขายของกินหรือของใช้ จะเป็นหน้าร้าน หรือขายผ่านออนไลน์ ใครที่มีรายได้จากการทำธุรกิจนี้ ถือเป็นรายได้ตามมาตรา 40(8) นะครับ (อ่านข้อมูล มาตรา40(1-8)ได้ที่นี่)

สำหรับทุกคนที่มีรายได้ เรามีหน้าที่ต้องเสียภาษีนะครับ ไม่ว่าจะเป็นภาษีทางตรง(ภาษีรายได้) หรือภาษีทางอ้อม(ภาษีมูลค่าเพิมหรือ VAT) โดยภาษีรายได้ก็จะแบ่งออกเป็น ภาษีบุคคลธรรมดา และ ภาษีนิติบุคคล ซึ่งหลักการการเสียภาษีก็ไม่ได้ยากอะไรครับคือ

เมื่อเรามีรายได้ สามารถนำรายได้มาหักค่าใช้จ่าย แล้วเหลือเท่าไหร่จึงนำมาคำนวนภาษี สำหรับภาษีบุคคลธรรมดา เรายังสามารถวางแผนภาษีเพิ่มเติมโดยการนำค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าลดหย่อน มาใช้ในการลดหย่อนภาษีที่ต้องเสียเพิ่มได้อีกด้วยดังนั้น ก็จะมีวิธีการคำนวนภาษีดังนี้ครับ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

รายได้ – ค่าใช้จ่ายกิจการ – ค่าใช้จ่ายส่วนตัว – ค่าลดหย่อน = รายได้สุทธิ นำมาคำนวนภาษีอัตราก้าวหน้า

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

รายได้ – ค่าใช้จ่ายกิจการ = กำไรสุทธิ นำมาคำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคล

โดยการหักค่าใช้จ่ายกิจการนั้น สำหรับบุคคลธรรมดา สรรพกรเปิดโอกาสให้สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ได้ที่ 60% ของรายรับที่ได้ หรือ หักแบบตามความเป็นจริงก็ได้นะครับ ต่างจากแบบ นิติบุคคล ที่การหักค่าใช้จ่ายจะหักค่าใช้จ่ายได้ตามความเป็นจริงเท่านั้นครับ การหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง เราต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่ถูกต้อง ชัดเจน และรายจ่ายนั้นต้องเป็นรายจ่ายตามความจำเป็นของกิจการ จึงจะสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้นะครับ โดยสำหรับกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดา มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือภาษีกลางปี และ ภาษีปลายปีครับ โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเป็นภาษีอัตราก้าวหน้านะครับ

เงินได้สุทธิ(ข้อมูลปี 2562)อัตราภาษีภาษี
0 – 150,000 บาท5%ยกเว้น
150,001 – 300,000 บาท 5%7,500
300,001 – 500,000 บาท 10%27,500
500,001 – 750,000 บาท 15%65,000
750,001 – 1,000,000 บาท 20%115,000
1,000,001 – 2,000,000 บาท 25%365,000
2,000,001 – 5,000,000 บาท 30%1,265,000
5,000,001 บาทขึ้นไป35%ตามจริง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าร้านค้ามีรายรับในปีภาษี 1,200,000 และเราเลือกหักค่าใช้จ่ายกิจการแบบเหมา 720,000 จะเหลือเงินได้ 480,000 จากนั้นนำ 480,000 มาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้สูงสุด 100,000 จะเหลือ 380,000 แล้วนำมาหักค่าลดหย่อน สมมติว่าเราทำประกันสุขภาพราคา 25,000 จะเหลือเงินได้สุทธิเพื่อใช้คำนวนภาษี 355,000 แล้วเรานำไปคำนวนภาษีอัตราก้าวหน้าตามตารางข้างต้นเราจะเสียภาษีที่ 7,500+5,500 = 13,000 บาทครับ ลองแยกเป็นสเตปให้ดูเพื่อไม่ให้งงนะครับ

รายได้ในปีภาษี1,200,000
หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%1,200,000-720,000=480,000
หักค่าใช้จ่ายส่วนตัว 50% แต่ไม่เกิน 100,000480,000-100,000=380,000
หักค่าลดหย่อน ประกันสุขภาพ 25,000380,000-25,000=355,000
คำนวนภาษีอัตราก้าวหน้า 0-150,000 ยกเว้นภาษี355,000-150,000 = เหลือรายได้สุทธิ 205,000
นำ 150,000 x 0% =ภาษี 0 บาท
150,001-300,000 คำนวนภาษี 5%205,000-150,000 = เหลือรายได้สุทธิ 55,000
นำ 150,000 x 5% = ภาษี 7,500 บาท
300,001-355,000 คำนวนภาษี 10%นำ 55,000 x 10% = ภาษี 5,500 บาท
รวมจ่ายภาษีที่ ฐาน 10 เสียภาษี 13,000 บาทรวมภาษี 0+7,500+5,500 = 13,000 บาท

ทั้งนี้แม้ว่าเราจะยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเก็บเอกสารหลักฐานเอาไว้ให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการตรวจสอบได้ อย่างน้อย 4 ปี นะครับ เพราะในทางปฏิบัติทางสรรพกรเอง ก็สามารถขอตรวจสอบข้อมูลกิจการและและขอประเมินภาษีใหม่ได้ถ้าทางสรรพกรเห็นว่า กิจการอาจจะยื่นภาษีไม่ถูกต้อง หรือ เสียภาษีน้อยเกินไปได้นะครับ ดังนั้น สำหรับกิจการที่มีรายได้สูงๆ แนะนำว่าควรมีการปรึกษาสำนักงานบัญชีเพื่อความชัดเจนถูกต้อง โดยเฉพาะกิจการที่มีรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท เพราะต้องมีการชำระภาษี VAT เป็นรายเดือนด้วยครับ

สำหรับใครที่สนใจความรู้ด้านการวางแผนภาษี และอยากนำเงินไปต่อยอดความมั่งคั่งให้กับตัวเองในอนาคตได้ทาง STARTFA Team มีคอร์สเรียนออนไลน์เรื่อง “สร้างเงินออมด้วยการวางแผนภาษี” สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถลงทะเบียนเข้าเรียนในเฟซบุคกลุ่มปิดที่ทางทีมงานจัดเตรียมไว้ให้ได้ครับ


ริว STARTFA

ที่ปรึกษาการเงิน มีเชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล โดยเฉพาะการวางแผนประกันชีวิตและการวางแผนเกษียณ โดยให้ความรู้ด้วยภาษาง่ายๆเข้าใจไม่ยาก เพื่อให้ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างดีที่สุด^^

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

บริการวางแผนการเงินฟรี

ร่วมงานกับเรา