Menu Close

SR: Living the Game – วิถีแห่งเกม ไม่สปอล์ยหนังแต่สปอล์ยชีวิตผม…

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสรับตั๋วฟรีหนังเรื่อง Living the Game หรือ ชื่อไทยว่า วิถีแห่งเกม จากการร่วมสนุกชิงรางวัลจาก เพจ TGU หรือ ไทเกอร์อัปเปอร์คัท ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นเพจของคนรักเกมไฟท์ติ้ง มีการกระจายข่าวสาร และ จัดการแข่งขันเกมไฟท์ติ้งเป็นประจำ ใครที่ชื่นชอบเกมไฟท์ติ้งก็ลองเข้าไปติดตามกันดูนะครับ

ก่อนพูดถึงหนัง มาชม ตัวอย่างภาพพยนตร์ Living the Game หรือ วิถีแห่งเกม กันก่อนครับ^^

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพยนตร์กึ่งสารคดี ที่ได้ไปติดตามชีวิตเกมเมอร์ 5 คน ในเรื่องของสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิต ซึ่งแต่ละคนก็จะมีมุมมอง และ การดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป โดย 2 ใน 5 จัดเป็นตำนานของวงการ เกมไฟท์ติ้งที่ถ้าพูดถึงการแข่งขัน เกมไฟท์ติ้ง ก็ต้องคุยถึง แมทช์ในตำนาน ของ 2 คนนี้ นั่นคือ Justin Wong และ Daigo Umehara ซึ่งทั้งคู่มีชื่อเสียงตั้งแต่ตอนอายุ 14-15 กันเท่านั้นเองนะครับ

เกมเมอร์อีก 3 คน เป็น กลุ่มผู้เล่นในช่วงปี 2011 ซึ่งก็มีดีกรีระดับแชมป์โลกกันทั้งนั้น นั่นก็คือ Momochi Luffy และ Gamer Bee แต่ละคนก็มีเรื่องราวในชีวิตที่แตกต่างกันไป

โดยภาพรวม ตัวหนัง ขอให้ 3(เต็ม5) ดาวนะครับ เนื่องจากหนังค่อนข้างทำออกมาเฉพาะกลุ่มมากๆ และการดึงเหตุการณ์ต่างๆภายในเนื้อเรื่องออกมา ถ้าไม่ใช่แฟนๆที่ติดตามเกมไฟท์ติ้งมาก่อน ก็คงไม่อินและไม่รู้เรื่อง แมทช์การแข่งขันแทบไม่ได้ตัดต่อเข้ามาเลย ทำให้ความบันเทิงหนังลดลงไป แต่เข้าใจว่าทีมงานคงคิดว่าถ้าอยากดูแมทช์แข่งเสิชยูทูบดูเอาก็คงไม่ยาก ดังนั้นเวลาประมาณน่าจะ 90 นาที + – จึงกลายเป็นเรื่องดราม่าล้วนๆครับ แต่ส่วนตัวไม่มีช่วงที่น่าเบื่อสำหรับผมนะครับ เนื่องจากค่อนข้างอินกับหนังมาก ติดใจประโยคหนึ่งของ Daigo ที่ทำให้ผมกลับมาคิดจนนอนไม่หลับมาหลายวันคือ Daigo บอกว่า ถ้าเค้าไม่ได้เล่นเกม เค้าคงไม่มีชีวิตที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ ซึ่งตัว Daigo เองน่าจะเรียกได้ว่าเป็นเกมเมอร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์คนหนึ่งเลยก็ได้

ย้อนกลับมาที่ตัวริวเอง เหตุการณ์และช่วงเวลาภายในหนัง ส่วนหนึ่งเรียกได้ว่านี่คือโลกของริวเลยล่ะครับ เพราะเรารู้สึกว่านี่เป็นประสบการณ์ที่เราแชร์กันตลอดช่วงอายุหนึ่งในชีวิตของเรา ย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็ก-ช่วงวัยรุ่น เชื่อหลายคนก็คงจะมีสิ่งที่เป็นงานอดิเรก เป็นสิ่งที่เราชอบทำใช่ไหมครับ บางคนชอบฟังเพลง บางคนเล่นกีฬา เล่นดนตรี แต่พวกเราเล่นเกม ซึ่ง การที่เราเล่นเกม กลายเป็นเรื่องเลวร้ายไม่ต่างกับการติดยาเสพติด ซึ่งภาพรวมในหนัง จะค่อนข้างใกล้เคียงกัน ขนาดในประเทศญี่ปุ่นเอง การเล่นเกมมันก็ดูที่จะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ทั้งๆที่เป็นประเทศที่อุตสาหกรรมเกมสามารถสร้างรายได้ได้เป็นอันดับต้นๆของโลก

ในทางกลับกันในบ้านเรา เกมจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับอบายมุข เชื่อเลยว่าถ้าพ่อแม่เห็นลูกเล่นเกม สิ่งแรกที่พ่อแม่จะทำคือถอนหายใจ พร้อมกับบ่นว่าทำไม ไม่เอาเวลาเล่นเกมไปอ่านหนังสือ ทำไมไม่เอาเวลาเล่นเกมไปทำอย่างอื่น พอโตเข้าช่วงวัยรุ่นหรือเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ก็จะประมาณว่า เล่นเกมแล้วจะทำอะไรกิน เล่นเกมแล้วจะหาเงินยังไง บลา บลา …

สื่อก็ชอบเปรียบเทียบเด็กติดเกมไม่ต่างจากเด็กติดยา คือ ก็ไม่รู้ว่าเอามาเทียบกันได้ยังไง แต่ทำแบบนี้แล้วมันขายได้ มันจุดติด มันเป็นประเด็น มันก็เลยเล่นกันแต่ประเด็นนี้จุดต่อกันมาเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงถ้ามองกันให้ดีๆ ริวว่าเกมมันก็มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี และถ้าว่ากันตรงๆส่วนที่ดีมันมีมากกว่ากันเยอะ

ถ้าดูจากในภาพยนตร์ จะเห็นว่าจุดร่วมอย่างหนึ่งของคนเล่นเกมคือ มันสามารถแก้ปัญหาชีวิตให้กับเค้าได้ครับ อย่างตัว Justin Wong เอง ทางบ้านค่อนข้างยากจน(ตรงนี้ตรงข้ามกับที่ริวคิดไว้เลย เพราะส่วนตัวนึกว่า จัสตินน่าจะบ้านรวย จริงๆไม่ใช่) และเกมมันช่วยให้เค้าลืมความลำบากบางช่วงในช่วงชีวิตเค้าได้ ส่วนตัวริวเอง ในช่วงวัยเด็กบอกตามตรงว่าอยู่ในครอบครัวคนจีน ที่ก็ไม่ได้อบอุ่นนัก เป็นเด็กมีปัญหาหน่อยๆ เกมมันเป็นเหมือนเพื่อน และ เครื่องเยียวยาจิตใจที่ทำให้รู้สึกว่า เราสามารถใช้ชีวิตผ่านไปในแต่ละวันได้ง่ายขึ้น เรามีเกมเป็นเพื่อนในวันที่ท้อแท้ เรามีเกมเป็นเพื่อนในวันที่รู้สึกเหงา เรามีเกมเป็นเพื่อนในวันที่รู้สึกเศร้า ในช่วงเวลาแย่ๆหลายครั้ง เรามีเกมที่ช่วยทำให้เราสามารถผ่านช่วงเวลาแบบนั้นมาได้

แต่นอกเหนือไปกว่านั้น เกมมันได้ค่อยๆเพิ่มทักษะบางอย่างให้กับเราโดยไม่รู้ตัว นั่นก็คือการไม่ยอมแพ้ต่อ อุปสรรค ลองคิดดู ตอนเด็กใครไม่เคยกดสูตรคอนทรา 30 ตัวบ้าง ไม่มีใครกดติดตั้งแต่ทีแรกแน่นอน มันต้องซ้อมต้องฝึกฝนต้องทำบ่อยๆ สิ่งเหล่านี้มันช่วยให้เราสามารถทำอะไรซ้ำไปซ้ำมาในตอนโต และเราได้เรียนรู้ว่าถ้าเราตั้งใจที่จะทำอย่างจริงจังและมากพอ เราก็ต้องทำสำเร็จได้ในวันใดวันหนึ่ง มันเป็นนิสัยดีๆอย่างหนึ่งที่ริวได้มาจากการเล่มเกม

พอเริ่มโตขึ้น ทักษะอีกอย่างที่ได้จากเกมคือทักษะทางภาษา เชื่อเลยว่าจะให้เด็กคนนึงมานั่งเปิดดิคชั่นนารี่เพื่อแปลคำศัพท์เป็นหน้าๆ น่าจะไม่มีใครทำหรอก แต่ถ้าให้เด็กคนนั้นมาเปิดดิคชั่นนารี่มาหาความหมายว่า ตัวละครในเกมนี้พูดว่าอะไร และเราต้องทำอะไรถึงจะผ่านด่าน ริวเชื่อว่าหลายคนทำ และ ริวคือ 1 ในนั้นแน่นอน เมื่อเราจริงจังกับมันเราก็ใช้เวลากับเกมมากขึ้น เราก็จะกลายเป็นเด็กติดเกมในสายตาของคนทั่วไป ซึ่งโดยส่วนตัวก็ไม่ได้แคร์เท่าไหร่ เพราะเรามองว่าเกมเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา แต่ทำไมเวลาเราทำผิดพลาด คนมักจะพร้อมกันโยนความผิดให้ว่าที่เราพลาด ที่เราผิดเพราะเราเล่นเกม ทั้งๆมันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ ที่คะแนนไม่ดีมันอาจจะเป็นเพราะเราเรียนไม่รู้เรื่องก็ได้ ที่การเรียนแย่อาจจะเกิดจากการที่ไม่ได้รับความใส่ใจจากผู้ปกครองก็ได้

มันมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่เกม แต่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามและเอาไปโทษใส่เกมนี่แหล่ะ ง่ายดี ง่ายที่สุดแล้ว…

ตอนหนึ่งในหนังเป็นช่วงที่ Daigo เค้าเล่าถึงคำสอนของพ่อเขาให้ฟัง(เล่าว่าไงไปดูหนังเองนะครับ ตรงนี้ไม่อยากสปอล์ย) ซึ่งริวฟังแล้วรู้เลยว่า นี่แหล่ะ คำสอนดีๆจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ทำให้ลูกประสบความสำเร็จได้อย่างยิ่งใหญ่และสามารถสร้างความมหัศจรรย์ให้กับชีวิตของลูกได้อย่างไม่น่าเชื่อก็คือตรงนี้ ริวเคยมีประสบการณ์คล้ายๆกันอยู่คือ ในช่วงวัยเด็กที่ ริวชอบเล่นเกม และแม้ว่าแม่จะกังวล และ บ่นมากแค่ไหน เรื่องเกมก็ตาม แต่ในวันครบรอบวันเกิดปีหนึ่ง ของขวัญวันเกิดที่เซอไพร์ซสำหรับริวที่สุดก็คือ เครื่องเล่นเกม ในวันนั้นสิ่งหนึ่งที่เด็กคนหนึ่งได้รับรู้ก็คือ แม่รักและเข้าใจเราแค่ไหน แม่เลือกที่จะเก็บเงินที่เค้าหาได้อย่างยากลำบากและซื้อเกมให้กับลูกด้วยเหตุเพราะเชื่อว่า นี่คงเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกมีความสุขที่สุด ซึ่งมันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ริวรับรู้ได้ว่า แม่รักเราแค่ไหน แต่ที่เค้าบ่นที่เค้าพูดก็เพราะเค้าห่วงอนาคตของเรา วันนั้นเหมือนเป็นจุดหนึ่ง ที่ทำให้ชีวิตกลับเข้ามาอยู่ในกรอบการเรียนและตั้งใจเรียนหนังสือเพื่อไม่ให้แม่ผิดหวัง แต่แน่นอนว่าเกมก็ยังเป็นเพื่อนที่ไม่ทิ้งกันไปไหนมาตลอด

พอโตขึ้นเราก็เริ่มเล่มเกมหลากหลายขึ้นทักษะที่ตามมาอีกอย่างคือทักษะทางด้านไอที เรียกได้ว่าช่วงเรียนมหาลัย เราสามารถซ่อมประกอบคอมพิวเตอร์ได้เองแล้ว เนื่องจากเล่นเกมแล้ววินโดว์พังมั่ง อยากอัพเครื่องไปเล่นเกมใหม่ๆบ้าง ทำให้เราได้ทักษะตรงนี้ แล้วพัฒนาไปจนเป็นการสร้างรายได้ให้กับเราช่วงมหาลัยได้ โดยการรับซ่อม+ประกอบคอมพิวเตอร์

หลังจากจบมหาลัยก็ออกมาทำงาน(ทำงานสายโฆษณา+กราฟิกดีไซน์ แน่นอนว่าทักษะหลายๆอย่างเกิดจากแรงบรรดาลใจตอนเล่นเกมแล้วก็มาหัดคิดหัดทำ) เคยมีครั้งนึงได้งานพิเศษเป็นครูสอนพิเศษทางด้านไอที ให้กับเด็กเล็ก ก็ใช้วิธีการสอนโดยการเล่มเกมเป็นสื่อ ซึ่งทำให้เด็กๆชอบมาก เพราะนอกจะเรียนรู้ได้แบบเป็นขั้นตอน+เข้าใจง่าย แล้วก็ยังสนุกไม่น่าเบื่อ ถึงขนาดผู้ปกครองมาขอเข้าพบที่โรงเรียนเพราะทึ่งว่า ลูกมาเรียนแค่ไม่กี่ ชั่วโมง แต่สามารถนำกลับไปทำเองที่บ้านได้ แล้วเด็กก็อยากมาเรียนไม่บ่นงอแงต่างจากที่ไปเรียนที่อื่น แต่โดยส่วนตัวเนื่องจากตอนนั้นยังมีเป้าหมายอื่นที่อยากทำอยู่จึงไม่ได้สอนพิเศษเป็นเรื่องเป็นราวอะไร

หลังจากทำงานมาระยะหนึ่งก็เริ่มมีเงินเก็บอยู่ก้อนนึงก็คิดอยากออกมาทำตามความฝันก็คือเปิดร้านเกมเล็กๆ ชื่อว่าร้าน เรียนเล่นเป็นเวลา ตั้งใจว่าเป็นร้านเกมสีขาว เปิดในชุมชนก็จะมีโปรโมชั่นที่ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถรับส่วนลดจากการที่ลูกหลาน ทำการบ้านเสร็จก่อนเล่นเกม หรือ ช่วยงานที่บ้านเสร็จแล้วนำคูปองจากผู้ปกครองมาเล่นเกมก็จะได้เล่นเกมเพิ่มอีก 30 นาที อะไรแบบนี้ วันเด็ก เด็กก็เล่นเกมฟรีมีการจัดกิจกรรมภายในร้าน ก็สนุกดี

กิจกรรมหนึ่งภายในร้าน ก็เป็นการจัดแข่งขันเกมไฟท์ติ้งต่างๆ เนื่องจากตัวเองเป็นคนที่ชื่นชอบการเล่นเกมไฟท์ติ้งอยู่แล้ว แล้วก็ได้เห็นคลิปการแข่งขันในยูทูบ ทั้ง evo ทั้ง โทเกกิ อยากเห็นเมืองไทยมีแบบนั้นบ้าง ก็จัดกันเองเลยนี่แหล่ะ สนุกๆแล้วก็ไปประชสสัมพันธ์ตามเวบบอร์ดต่างๆก็มีคนเข้ามาแข่งกันบ้างพอสมควร

ถ้าดูจากในภาพยนตร์ จะเป็นช่วงปี 2014-2015 ซึ่งเป็นช่วงที่ e-sport เริ่มได้รับความนิยมแล้วนะครับ ในภาพยนตร์ จะใช้คำเรียกผู้เล่นว่า โปรเพลเยอร์ แต่ช่วงก่อนหน้านั้น ที่คนยังไม่ค่อยรู้จักการเล่นแข่งเกมในลักษณะนี้จะเกิดมาจากในเกมเซนเตอร์ หรือ ร้านตู้เกม ในญี่ปุ่นครับ โดยการแข่งขันก็จะเป็นลักษณะของการสมัครเข้าแข่งชิงเงินรางวัล ซึ่งในไทยการทำแบบนี้คงโดนจับกันหมดข้อหาเล่นการพนัน lol

แต่ก็นะ การแข่งมันก็พัฒนามาจนเกิดเป็นการแข่งใหญ่ๆในญี่ปุ่นเรียกว่าการแข่ง โทเกกิ ซึ่งจะเป็นการแข่งใหญ่ที่จัดขึ้นทุกปี และในฝั่งอเมริกาก็จะมีการแข่งที่เรียกว่า evo ซึ่ง แมทช์ในตำนานก็เกิดในการแข่งขัน evo 2004 นะครับ

ในประเทศไทยเองก็มีการจัดแข่งกันบ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการรวมกลุ่มแข่งกันเอง แล้วก็ไปขอสปอนเซอร์มาเป็นรางวัล ก็จะออกแนวสนุกๆมากกว่าที่จะเป็นเรื่องเป็นราวจริงจัง แต่มีครั้งนึง ที่มีการจัดแข่งอย่างจริงจังโดยเป็นงานระดับโลกด้วยก็คือ งาน WCG ซึ่งริวก็เข้าร่วมแข่งโดยไม่ต้องสงสัย lol

โดย สปอนเซอร์หลักของงานก็คือไมโครซอฟท์นะครับ ซึ่งผู้ชนะ ก็จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งระดับโลกในงานที่จะจัดขึ้นที่ประเทศอเมริกา ก็ถือว่าเป็นงานที่สนุกมากๆ น่าเสียดายที่มีโอกาสจัดได้แค่ 2 ปี ในส่วนของเกมไฟท์ติ้ง

พอได้แข่งงานใหญ่ๆแบบนี้ก็แอบฝันว่าเราก็อยากจะจัดงานแข่งใหญ่ๆแบบนี้บ้างจังหนอ หลายๆคนอาจจะหาคอนเนคชั่นจากการเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ หรือไปเรียนปริญญาโท แต่ริวได้คอนเนคชั่นจากการเล่นเกม ซึ่งในช่วงนั้นก็มีรายการทีวีรายการนึงที่ชอบดู ชื่อว่ารายการแฟนพันธุ์แท้ พอเห็นเค้าประกาศรับสมัครผู้เข้าแข่งขันตอน วิดิโอเกม เราก็สมัครไปเลยทันที รายการก็โทรมาสัมภาษ+คัดตัว ก็เป็นช่วงหนึ่งในชีวิตที่สนุกมาก ไปทำข้อสอบ อ่านหนังสือ เรียกได้ว่าตั้งใจกว่าตอนเอ็นทรานซ์อีก 555 หลังจาก สอบ+สัมภาษ จำได้ว่าหลายรอบมาก เพราะคนสมัครเยอะ จำได้ว่า 2-3 ร้อยคนนี่แหล่ะ ปรากฎว่าเราได้ติด 1 ใน 5 ก็ได้เข้าไปแข่ง วันถ่ายทำก็ตื่นเต้นมาก แต่ก็สนุก ได้เพื่อนใหม่เยอะ หลังรายการออกอากาศ ไม่น่าเชื่อว่า ชีวิต 1 สัปดาห์หลังจากนั้น เวลาไปสถานที่ต่างๆก็จะมีคนมาทัก มาคุยด้วย บอกเสียดาย ไม่น่าตกรอบ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่น่าจดจำ

หลังจากนั้น ก็ได้มีโอกาสรู้จักพี่ โฟล์ค น่าจะเป็น บก. Play Magazine(นิตยาสารเกมนะ) ก็คุยกันอยู่พักนึง พี่ก็บอกว่ากำลังจะมีการจัดงานใหญ่ ชื่องาน BIG Festival แล้วคุยกันอีท่าไหนก็ไม่รู้ เราก็ได้โอกาสเข้่ไปจัดแข่งเกมไฟท์ติ้งในงานนั้น ต้องบอกว่าฝันเกี่ยวกับเกมของเราก็ได้มีโอกาสเป็นจริงอีกอย่าง วันจัดงานใจจริงบอกตรงๆอยากลงแข่งมาก แต่ถ้าลงแข่งคงไม่มีคนจัดงาน ก็เลยต้องจัดงานไป หลังจบงาน คนที่มาแข่งก็เข้ามาคุยบอกว่าเออ พี่งานนี้ดีนะ ได้บรรยากาศแบบ โทเกกิ แบบ evo เลย สนุกมาก ก็แอบปลื้มใจ

ตอนนั้นก็รู้สึกว่า ฝันที่เกี่ยวกับเกม ที่เราอยากทำก็ได้ทำมาหลายอย่างละ เหลืออีกอย่างที่อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาส ก็คือทำเกมของตัวเอง ก็เริ่มศึกษา เราจะทำเกมได้ไงหนอ ตอนนั้นก็เริ่มหาเทคบุค การเป็นเกมดีไซน์เนอร์จาก ต่างประเทศมาอ่าน เริ่มศึกษา ค่อยๆทำไปทีละสเตปๆ จนเกมดีไซน์ของเราเสร็จเรียบร้อย ตอนแรกอยากทำเกมไฟท์ติ้งนะ แต่งยประมาณมีจำกัด เลยเริ่มจากการทำเกมพัซเซิลเล็กๆก่อนดีกว่า แล้วค่อยพัฒนา ก็ได้เพื่อนที่รู้จักกันช่วยเป็นเอาท์ซอดให้ในการพัฒนาบนแพลทฟอร์ม แฟลช แล้วก็เอาท์ซอด ภาพในเกม บางส่วนที่พอทำได้ก็ทำเอง ใช้เวลาทำอยู่น่าจะประมาณสัก 8 เดือนได้เกมก็เสร็จ แล้วก็อีท่าไหนไม่รู้ ก็ได้มีโอกาสไปรู้จักกับพี่ เพิ่มบุญ เจ้าของ บริษัท AIM ก็เป็น บ.พัฒนาเกมไทย บ.หนึ่งที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงนะครับ พี่เค้าก็ชวน ริวลองไปออกงาน ซิป้ามั้ยเผื่อได้ทุนได้งาน ริวก็ได้ครับพี่ ไปแบบไม่ได้คิดอะไร ปรากฎว่าวันงานจริง ได้ขึ้นไปโชว์เกมบนเวทีด้วย เราก็เตรียมไปแค่ภาพเฉยๆ สื่อเพียบ lol ก็สนุกดี แล้วก็มีโอกาสได้คุยกับ พับลิชเชอร์หลายๆที่ ทั้ง บ. เกมในไทย และมี ตปท. บ้างประปราย รายละเอียดขอไม่กล่าวถึงละกัน แต่สุดท้ายก็คือเราก็เอาเกมของเรามาทำการตลาดเอง ก็คิดว่าอย่างเอาไปขายเป็นเกมโฆษณา หรือ บันเดิ้ลแพคคู่กับสินค้าไอที คุยไปคุยมา มีดีลนึงที่ เค้าสนใจเกมของเรามาก ติดที่ว่าโปรเจคของเราไม่ได้เป็นที่รู้จักในระดับโลก เค้าก็บอกว่าคุณริวช่วยไปโปรโมทในระดับโลกก่อนได้มั้ยถ้าทำสำเร็จ เค้ามีออเดอร์ขั้นต่ำเลย 5 ล้านชุด ขุ่นพระ อยากได้นะ แต่จะไประดับโลกยังไง 555 ก็เหมือนกับแห้วไปโดยปริยาย แล้วก็ไปได้ดีลอีกที่ ลูกค้าสนใจซื้อไปบันเดิ้ลกับโน้ทบุคเป็นเกมติดเครื่องให้กับลูกค้า แต่ขอซื้อสิทธิ์ขาดเลยให้ราคาที่ 250,000 ตอนนั้นถามว่า 250,000 กำไรมั้ย ก็กำไร เพราะงบพัฒนาของเราใช้ไปประมาณ 120,000 แต่ในใจคิดว่าถ้าวางขายออกน่าจะกำไรดีกว่า ก็เลยคิดว่าขายเองดีกว่า ก็ได้ไปคุยกับทาง ร้านสะดวกซื้อร้านนึง เค้าก็ถามว่าเราจะขายยังไง เราก็บอกว่าทำเป็น CD ขายครับ เค้าบอกน่าสนใจ แต่ยอดขั้นต่ำต้องส่งให้ทางร้านอย่างน้อย 5,000 แผ่น เพื่อนำไปกระจายตามร้านสาขาต่างๆทั่วประเทศ เราก็กลับมาหาทุน เริ่มมาคุยกับ ธนาคาร ปรากฎว่า ธนาคารไม่อนุมัติทุนเนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ก็กลายเป็นว่า เกมของเราที่พัฒนาโดยคนไทยแท้ๆ ไม่มีโอกาสได้วางขายในประเทศไทยไปสะงั้น 555 มีคลิปให้ดู

แต่สุดท้ายเกมของเราได้ ไปโลดแล่นในระดับโลกนะ ในฐานะแอดเวอโทเรียลเกม ต้องขอบคุณ เนดแห่ง Green Hermit Game ที่ช่วยพัฒนาเกมให้ออกมาสำเร็จได้ และ พี่ไก่ พี่ไก่ ชัยวัฒน์ บุญรอด ที่ช่วยทำเพลงประกอบให้นะครับ ^^

ใครที่อยากลองเล่นเกม ลองเสิชกูเกิ้ลดูยังมีให้เล่นได้นะครับ ชื่อเกม The Magic Revolution: The Beginning of Mystic ซึ่งช่วงนั้นตอนปล่อยเกมออกไปใหม่ๆ เกมได้รับเลือกโดยแฟลชเกมพอททอลหลายแห่ง จำได้ว่ามีคนเล่นเกมช่วงอาทิตย์-2อาทิตย์แรกหลักแสนคนทีเดียว รีวิวเกมที่ได้รับก็มีหลากหลาย แต่ที่รู้สึกภูมิใจที่สุดก็คือคอมเม้นท์นึงที่คุณแม่เข้ามาชมว่าประทับใจเกมของคุณมาก ลูกสาวของฉันต้องขอฉันเล่นเกมของคุณทุกเช้า เพราะเธอชอบมันมาก ซึ่งในฐานะนักพัฒนาเกมริวก็รู้สึกว่านี่แหล่ะ เป็นอะไรที่ทำให้เราปลื้มใจละ นี่เป็นการผจญภัยครั้งสุดท้าย ที่เรากับเกมได้ทำร่วมกัน

ปัจจุบัน ริวได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน แต่ก็ต้องบอกว่าทักษะที่ใช้ทำงานในปัจจุบันหลายๆอย่าง ก็เกิดขึ้นได้เพราะการเล่นเกมหรือได้รับแรงบรรดาลใจมาจากเกมนะครับ ปัจจุบันก็ยังเล่นเกมอยู่ ไม่เคยอายเวลาใครถามว่ายังเล่นเกมอยู่อีกเหรอ เพราะเกมยังคงเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับริวครับ

สำหรับหนัง Living the Game หรือ วิถีแห่งเกม อยากแนะนำให้ใครหลายๆคนที่กำลังสนใจจะเป็นโปรเกมเมอร์หรือโปรเพลเยอร์ลองเข้าไปดูนะครับ เพราะมันสะท้อนแง่มุมในหลายๆอย่าง

หรือสำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่คิดว่าลูกเราติดเกมจะทำยังไง ลองชวนลูกไปดูก็อาจจะได้แง่มุมในชีวิตบางอย่าง ที่ทำให้คุณเข้าใจลูกของคุณได้มากขึ้นก็ได้นะครับ อยากฝากผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศถ้ามีโอกาสได้เห็นกระทู้นี้ การจัดแข่งอีสปอร์ทถือเป็นเทรนด์อย่างหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจ เพราะไม่มีข้อจำกัดด้าน อายุ เพศ ของผู้เล่น และประเทศไทยเองรายได้หลักก็มาจากการท่องเที่ยว ซึ่งจริงๆแล้วถ้าเรามี งานเทศกาลหลักๆที่เกี่ยวกับ อีสปอร์ท ในประเทศไทยได้ก็น่าจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและรายได้ให้กับประเทศได้นะครับ อีสปอร์ท ใหญ่ๆมีผู้เล่นเข้าร่วมมากกว่าหลักพันคน ในต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น หรือ อเมริกา เค้าพัฒนากันไปจนถึงระดับ ลีค กันแล้ว แต่ถ้าเราจะเริ่มก็คิดว่ายังไม่สายเกินไปนะครับ

ขอบคุณที่สละเวลาอ่านครับ^^


ริว STARTFA

ที่ปรึกษาการเงิน มีเชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล โดยเฉพาะการวางแผนประกันชีวิตและการวางแผนเกษียณ โดยให้ความรู้ด้วยภาษาง่ายๆเข้าใจไม่ยาก เพื่อให้ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างดีที่สุด^^

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บริการวางแผนการเงินฟรี

ร่วมงานกับเรา

Verified by ExactMetrics